เมนู

บาลีนั้น พึงประกอบสับเปลี่ยนลำดับว่า บุคคลผู้ประกอบพร้อมแล้ว
ด้วยธรรมทั้งหลาย มีความไม่ประมาทเป็นต้นเหล่านั้น มีเพียร ด้วยความเพียร
อันให้ถึงความเที่ยง เป็นผู้เที่ยง โดยถึงความเที่ยง ด้วยความเพียรนั้น แต่นั้น
มีธรรมอันกำหนดรู้แล้ว ด้วยการบรรลุพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้ ก็พระ-
อรหันต์ เรียกว่า ผู้มีธรรมอันกำหนดรู้แล้ว เพราะไม่มีธรรมที่จะพึงกำหนด
รู้อีก เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้มีธรรม
อันตนกำหนดแล้วแล และพระเสขะและปุถุชนเหล่าใด มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้.
บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
ตัณหักขยคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 37


คาถาว่า สีโห ว ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง มีพระราชอุทยานอยู่
ในที่ไกล พระองค์ต้องเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน เสด็จ
ลงจากพระยานในระหว่างมรรคา ด้วยพระราชดำริว่า เราไปสู่ท่าน้ำแล้วจัก
ล้างหน้า ก็ในประเทศนั้น นางราชสีห์ตกลูกราชสีห์แล้วไปหากิน ราชบุรุษ
เห็นลูกราชสีห์นั้นแล้ว ทูลว่า ลูกราชสีห์ พระเจ้าข้า พระราชาทรงพระราช
ดำริว่า ได้ยินว่า ราชสีห์ไม่กลัวใคร จึงตรัสสั่งให้ตีวัตถุมีกลองเป็นต้น เพื่อ
ทดลองลูกราชสีห์นั้น ลูกราชสีห์ฟังเสียงนั้น ก็นอนตามเดิม พระราชาตรัสสั่ง
ให้ตีวัตถุถึงสามครั้ง ในครั้งที่ 3 ลูกราชสีห์ก็ชูศีรษะขึ้น แลดูบริษัททั้งหมด
แล้วนอนเหมือนเดิม.

ขณะนั้น พระราชาตรัสว่า แม่ของลูกราชสีห์นั้น ยังไม่กลับมาตราบ
ใด พวกเราจะไปตราบนั้น เมื่อจะเสด็จไป ทรงพระราชดำริว่า ลูกราชสีห์
แม้เกิดในวันนั้น ก็ไม่สะดุ้ง ไม่กลัว ชื่อในกาลไหนหนอ เราพึงตัดความ
สะดุ้งเพราะตัณหาและทิฏฐิแล้ว ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงกลัว พระองค์ทรงยึด
อารมณ์นั้น เสด็จไปอยู่ ทรงเห็นลมพัดไม่ติดตาข่ายทั้งหลาย ที่พวกชาวประมง
จับปลาแล้ว คลี่ตากไว้บนกิ่งไม้ทั้งหลาย ทรงยึดนิมิตแม้นั้นอีกว่า ชื่อในกาล
ไหนหนอ แม้เราพึงทำลายข่ายคือตัณหาทิฏฐิ และข่ายคือโมหะไป ไม่ติดขัด
เช่นนั้น.
ต่อมา พระองค์เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ประทับนั่งที่ฝั่งสระโบกขรณี
ที่มีแผ่นศิลา ทรงเห็นปทุมทั้งหลายที่ต้องลมแล้ว โอนเอนไปถูกน้ำ เมื่อ
ปราศจากลม ก็ตั้งอยู่ตามที่เดิมอีก ไม่เปียกน้ำ จึงทรงถือนิมิตแม้นั้น ว่า
เมื่อไรหนอ แม้เราเกิดแล้วในโลก ไม่พึงติดในโลกดำรงอยู่ เหมือนปทุม
เหล่านี้ เกิดในน้ำ ไม่เปียกน้ำดำรงอยู่ ฉะนั้น.
พระราชานั้น ทรงพระราชดำริบ่อย ๆ ว่า เราไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงติด
ไม่พึงเปียก เหมือนราชสีห์ ลม และปทุม ฉะนั้น แล้วทรงสละราชสมบัติ
ผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ก็ทรงทำให้แจ้ง ซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัส
อุทานคาถานี้ว่า
สีโหว สทฺเทสุ อสนฺตสนฺโต
วาโตว ชาลมฺหิ อสชฺชมาโน
ปทุมํ ว โตเยน อลิมฺปมาโน
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป


* สํ. นิทาวคฺค 44.

บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยง
เป็นต้น เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง ไม่
ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์ และอายตนะเป็นต้น
เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วย
ความยินดีและความโลภ เหมือนดอกปทุม
ไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
นอแรด ฉะนั้น ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สีโห ได้แก่ สีหะ 4 ประเภท คือ ติณสีหะ
นรสีหะ กาฬสีหะ เกสรสีหะ. เกสรสีหะท่านกล่าวว่า เลิศกว่าสีหะ 3 ประเภท
นั้น เกสรสีหะนั้นเทียว ท่านประสงค์เอาในคาถานี้.
บทว่า วาโต ได้แก่ ลมหลายชนิด ด้วยอำนาจแห่งลมที่พัดมาทาง
ทิศตะวันออกเป็นต้น. บทว่า ปทุมํ ว ได้แก่ ปทุมหลายชนิด ด้วยอำนาจ
แห่งปทุมแดงและปทุมขาวเป็นต้น. ในลมและปทุมเหล่านั้น ลมอย่างใดอย่าง
หนึ่ง ปทุมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรทั้งนั้น.
ในคาถานั้น เพราะความสะดุ้งย่อมมีได้ เพราะความรักตน และ
ความรักตน ก็คือ ความติดด้วยอำนาจตัณหา แม้ความติดด้วยอำนาจตัณหา
นั้น ย่อมมีได้ เพราะความโลภที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ หรือที่ปราศจากทิฏฐิ ก็
ความโลภนั้น คือ ตัณหานั่นเอง ก็ในคาถานั้น ความข้องย่อมมีด้วยโมหะสำหรับ
บุคคลผู้เว้นจากการพิจารณา และโมหะ ก็คือ อวิชชา ในการนั้น การละตัณหา
ย่อมมีได้ด้วยสมถะ การละอวิชชามีได้ด้วยวิปัสสนา เพราะฉะนั้น บุคคล
ละความรักตนด้วยสมถะแล้ว ไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยงเป็นต้น เหมือน

ราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียงฉะนั้น ละโมหะด้วยวิปัสสนาปัญญาแล้ว ไม่ข้องอยู่ใน
ธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่ายฉะนั้น ละโลภะ
และทิฏฐิที่สัมปยุตด้วยโลภนั่นเอง ด้วยสมถะนั้นแล ไม่ติดอยู่ด้วยความโลภ
คือความยินดีในภพทั้งปวง เหมือนปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉะนั้น
ก็ในที่นี้ ศีลเป็นปทัฏฐานของสมถะ สมถะ คือ สมาธิ วิปัสสนา คือ
ปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อธรรมทั้งสองนั้น สำเร็จอย่างนี้แล้ว ขันธ์ทั้ง 3
ก็เป็นอันสำเร็จแล้ว. ในขันธ์ 3 อย่างนั้น บุคคลเป็นผู้กล้าหาญด้วยศีลขันธ์
เขาย่อมไม่สะดุ้ง เพราะความที่ตนประสงค์เพื่อจะโกรธในอาฆาตวัตถุทั้งหลาย
เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียงฉะนั้น ผู้มีสภาพอันแทงตลอดแล้ว ด้วยปัญญา
ขันธ์ ย่อมไม่ต้องอยู่ในธรรมอันต่างด้วยขันธ์เป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่ใน
ข่าย ฉะนั้น ผู้มีราคะไปปราศแล้ว ด้วยสมาธิขันธ์ ย่อมไม่ติดอยู่ด้วยราคะ
เหมือนปทุมไม่ติดด้วยน้ำ ฉะนั้น บุคคลไม่สะดุ้ง ไม่ต้องอยู่ ไม่ติด ด้วย
อำนาจแห่งการละอวิชชาตัณหา และอกุศลมูล 3 ตามความเป็นจริง ด้วย
สมถวิปัสสนา และด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์ บัณฑิตพึงทราบ
ด้วยประการฉะนี้. บทที่เหลือ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
อสันตสันตคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 38


คาถาว่า สีโห ยถา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่ง ทรงทิ้งทางบ้านใหญ่และ
บ้านน้อย เพื่อทรงปราบปัจจันตชนบทที่กำเริบให้สงบ ทรงถือทางดงดิบ ซึ่ง
เป็นทางตรง เสด็จไปด้วยเสนาหมู่ใหญ่.